ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน 6 ประการ เป็นคุณธรรมที่ทำให้คนเราไม่เห็นแก่ตัว แต่จะคิดถึงคนอื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ระลึกถึงกัน ผูกพันเชื่อมโยงบุคคลไว้ด้วยน้ำใจ
สาราณียธรรม 6 สำหรับฆราวาส
1. เมตตากายกรรม แห่งสาราณียธรรม 6 คือ ทำต่อกันด้วยเมตตา หมายถึง ทำสิ่งใดก็ทำด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเช่น แสดงไมตรีจิต และหวังดีต่อมิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน บุคคลรอบข้าง โดยช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ด้วยความเต็มอกเต็มใจ พร้อมกับประพฤติตนอย่างสุภาพ สม่ำเสมอ ให้ความเคารพ และจริงใจต่อผู้อื่นแม้ในยามหน้า และลับหลัง
2. เมตตาวจีกรรม แห่งสาราณียธรรม 6 คือ พูดกันด้วยเมตตา หมายถึง จะพูดอะไรก็พูดด้วยความปรารถนาดีต่อกัน เช่น การให้ความรู้ หรือคำแนะนำที่ดีต่อผู้อื่น กล่าววาจาสุภาพ พูดจริง ไม่พูดเพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองฝ่ายเดียว
3. เมตตามโนกรรม แห่งสาราณียธรรม 6 คือ คิดต่อกันด้วยเมตตา หมายถึง จะคิดสิ่งใดก็ให้คิดในสิ่งที่ดี และคิดด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เช่น ตั้งจิตปรารถนาที่จะทำคุณงามความดี คิดมั่นในการสร้างบุญกุศล และมีจิตเมตตาช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความหวังดี
4. สาธารณโภคี แห่งสาราณียธรรม 6 คือ แบ่งปันสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม หมายถึง แบ่งปันลาภผลที่ร่วมกัน หาร่วมกันทำโดยยุติธรรมแม้สิ่งของที่ได้มาจะน้อย แต่ก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วถึงกันนั้น คือ การร่วมสุข ร่วมทุกข์กัน
5. สีลสามัญญตา แห่งสาราณียธรรม 6 คือ มีความประพฤติเสมอภาคกัน หมายถึง ประพฤติสุจริตในสิ่งที่ดีงามอย่างสม่ำเสมอ ประพฤติตนอย่างมีระเบียบวินัยเหมือนผู้อื่น ไม่ประพฤติตนในทางแตกแยกจนเป็นที่ขัดข้องหมองใจต่อผู้อื่นหรือเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ
6. ทิฏฐิสามัญญตา แห่งสาราณียธรรม 6 คือ มีความเสมอภาคกันทางความคิด และเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น หมายถึง ปรับความคิดความเห็นให้มีเหตุมีผลถูกต้องเหมือนกับผู้อื่น และหมู่คณะภายใต้เหต และผลในทางที่ดีงาม พร้อมกับเคารพเหตุผล ยึดหลักความดีงามเป็นอุดมคติอย่างสม่ำเสมอ
สาราณียธรรม 6 สำหรับภิกษุ สามเณร
1. เมตตากายกรรม คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย พึงกระทำสิ่งใดก็ต้องให้ยึดมั่นด้วยความเมตตา ได้แก่ การแสดงความมีน้ำใจช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานต่างๆ ที่ควรของเพื่อนภิกษุสามเณร ของเพื่อนอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าหรือลับหลังก็ตาม
2. เมตตาวจีกรรม คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลายพึงกล่าววาจาที่ประกอบขึ้นด้วยเมตตา ได้แก่ การพูดวาจาที่เป็นคำสัตย์ คำจริง คำสมานสามัคคีด้วยคำไพเราะ น่าฟัง และคำที่มีประโยชน์ภายใต้พื้นฐานที่มาจากความเมตตา และจิตอันบริสุทธิ์ต่อคนที่ตนพูดด้วย และคนที่พูดถึง พูดต่อหน้าอย่างไร ลับหลังก็ต้องพูดอย่างนั้น ลับหลังพูดอย่างไร ต่อหน้าก็ควรพูดอย่างนั้น
3. เมตตามโนกรรม คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลายพึงระลึกในจิตที่มีเมตตา ได้แก่ การตั้งความรู้สึกในคนและสัตว์ทั้งหลายว่า ชีวิตแต่ละชีวิตไม่ต้องการความทุกข์ แต่ต้องการความสุขฉันใด เพราะฉะนั้นขอให้บุคคลนั้นๆ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ประทุษร้ายกัน ให้แต่ละคนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่ฐานะของตน เมื่อจะคิดถึงใครก็ตามไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่า เป็นภิกษุสามเณรเท่านั้น ให้คิดถึงกันด้วยเมตตา และพร้อมที่จะแสดงออกทางกาย ทางวาจา ทั้งต่อหน้า และลับหลังบุคคลเหล่านั้น
4. สาธารณโภคี คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย พึงแบ่งปันภัตตาหารหรือสิ่งของของตนให้แก่เพื่อนภิษุสามเณรด้วยกัน พึงละเว้นจากความเห็นแก่ตัวไม่แบ่งปันผู้อื่น คือ หลักการอยู่ร่วมกันของพระภิกษุสามเณรนั้น ต้องรู้จักเที่ยวบิณฑบาตอาหารจากชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา เป็นการได้อาหารมาในทางที่ชอบธรรม แต่ว่าการได้ปัจจัย 4 นั้น คนเรามีวาสนาบารมีไม่เหมือนกัน บางคนได้มากจนเหลือกินเหลือใช้ บางคนได้น้อยจนไม่ค่อยพอกินพอใช้ เพราะฉะนั้นคนที่ได้ลาภผลมาในทางที่ชอบมาก จึงต้องแสดงออกซึ่งทางกายกรรมทางวจีกรรม ที่สะท้อนมาจากใจ ด้วยการเอื้อเฟื้อแบ่งปันเป็นการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ เฉลี่ยความสุขให้แก่กัน และกัน
5. สีลสามัญญตา คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย พึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์เสมอกัน เนื่องด้วยการอยู่ร่วมกันของพระภิกษุ สามเณรนั้น ก็เป็นสังคมหนึ่งที่คล้ายกับฆราวาส มีผู้มากบ้าง และมีผู้รู้น้อยบ้าง แต่ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการประพฤติปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้ที่เกี่ยวข้องกันแม้จะเป็นเพื่อนรักร่วมใจกัน ถ้าคนหนึ่งละเมิดศีลที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้จะกลายเป็นที่รังเกียจ ดูหมิ่นของเพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกัน การอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขที่ประสงค์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องพยายามปฏิบัติตนให้ถูกต้องตรงตามหลักของศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้โดยให้มองว่า ข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้อย่างไร ใครปฏิบัติถูกต้องตรงหลักที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ก็ปฏิบัติไปตามเขา ทำให้เกิดเป็นความเรียบร้อยสวยงามขึ้นที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า สังฆโสภโณ คือ หมู่คณะที่งดงาม
6. ทิฏฐิสามัญญตา คือ ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย พึงมีความเห็นร่วมกัน และเคารพความเห็นของผู้อื่นเสมอ ไม่พึงวิวาทกันเอง เพราะเพียงความเห็นที่ไม่ตรงกัน โดยในฐานะของภิกษุในพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นความเห็นเกี่ยวกับวินัย ก็ต้องเอาวินัยเป็นมาตรการกำหนดตัดสินว่า ความเห็นของใครถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะก็ตรวจสอบเทียบเคียง สอบทานหลักธรรมะว่า ข้อนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างไร แล้วก็หาจุดกลางทางความคิดมาพบกัน แต่บางอย่างเป็นเรื่องของกิจการงาน หรือแม้แต่เรื่องความเห็นทั่วไป อาจจะมีความขัดแย้งในหลักการ และวิธีการบางอย่าง แต่ว่าสามารถประสบผลเช่นเดียวกันได้ ก็ต้องรู้จักผ่อนปรนไม่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท เพราะเหตุว่าความเห็นขัดแย้งกัน เว้นไว้แต่บุคคลนั้นมีความเห็นขัดแย้งกับธรรมวินัย ซึ่งภิกษุสามเณรรู้ห่วงใยในพระพุทธศาสนา จะต้องถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะขจัดปรับการวิวาทเหล่านั้นให้ยุติลงด้วยความเรียบร้อย