ค่าของคนอยู่ที่ผลงาน คุณของคนอยู่ที่การฝึกฝนนำตนให้พ้นจากทุกข์ เศษแก้วในทะเล
ขัดเกลานานเข้า ยังกลายเป็นแก้วทะเลมีค่าน่าสะสม เศษคนในทะเลชีวิต ขัดเกลามากเข้า
ย่อมกลายเป็นแก้วทรงคุณค่า ในมหาสมุทรแห่งพุทธธรรม

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

                
       
                 ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

          คำว่า เมโสโปเตเมีย เป็นภาษากรีกมาจากคำว่า Mesos เท่ากับภาษาอังกฤษว่า Middle และคำว่า Potamos เท่ากับภาษาอังกฤษว่า River รวมความแล้วหมายถึง “ดินแดนระหว่างแม่น้ำ” (land between the rivers) ได้แก่ที่ราบระหว่างแม่น้ำไทกริส (Tigris) ทางตะวันออก และแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) ทางตะวันตก พื้นที่นี้ตั้งอยู่ทางทิสตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชียในบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอปริกา โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งหันออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นจุดเชื่อมโยงติดต่อกับอารยธรรมอียิปต์โบราณ พื้นที่ของแหล่งอารยธรรมทั้งหมดจะกินอาณาบริเวณจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปสู่อ่าวเปอร์เซีย มีลักษณะเป็นรูปเสี้ยวจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์” ครอบคลุมดินแดนบางส่วนในประเทศอิรักและซีเรียในปัจจุบัน ถือเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่แห่งแรก เมื่อราว 3,500 ปี ก่อนคริสตกาล

                           

          จากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมโสโปเตเมีย เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมีการทับถมของดินตะกอนตามชายฝั่งแม่น้ำทั้งสอง ทำให้บริเวณแถบนี้อุดมสมบูรณ์และมีสภาพเหมาะสมแก่การเพาะปลูก แม้ว่าสภาพอากาศในดินแดนแถบนี้จะแปรปรวนไม่จนสามารถคาดเดาได้ก็ตาม เกิดความแห้งแล้งลำน้ำท่วมเป็นประจำ อันเป็นเหตุให้การควบคุมน้ำหรือการชลประทานสำคัญจำเป็นต่อการทำกสิกรรมของผู้คนแถบนี้ นอกจากนั้นแล้ว ทางบกยังติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เชื่อมต่ออียิปต์และอารยธรรมที่กำลังก่อตัวในยุโรปได้ทางตอนใต้ก็ยังเปิดสู่อ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเออำนวยต่อการขนส่งค้าขายทางทะเลกับอารยธรรมที่ห่างไกล เช่น สินธุ ลักษณะเช่นนี้เอง ทำให้ดินแดนเมโสโปเตเมียแห่งนี้ เป็นที่หมายปองของชนกลุ่มต่างๆ

            ช่วงประมาณ 4000 ปีก่อนคริสตกาลลงมาพบว่า มนุษย์ที่เมโสโปเตเมียเริ่มเรียนรู้การใช้โลหะทองแดง และพบหลักฐานความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ เป็นต้น ถัดมาประมาณ 3600-2800 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอยู่ในยุคอูรุก (Uruk) ถือเป็นการเริ่มต้นอารยธรรมเมืองในลักษณะนคร-รัฐ (city-state) และที่นี้มีวิหารสองแห่ง คือ วิหารสำหรับบูชาเทพอาทิตย์และวิหารสำหรับบูชาเทพอินันนา (Inanna) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความรักและความอุดมสมบูรณ์

             เทพในช่วงนี้ของเมโสโปเตเมียมีหลายองค์ เช่น วัวกระทิง ซึ่งมีความหมายถึงสวรรค์ Enlil เป็นเทพของสายฟ้าหรือดินฟ้าอากาศ Ea เป็นเทพแห่งน้ำและมีการสร้างวิหารที่เรียกว่า “ซิกกูแรต” (Ziggurat) หมายถึง ห้องรอคอยเพื่อบูชาหรือพบพระเจ้า สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสถานที่ติดต่อหรือเชื่อมระหว่างโลกและสวรรค์

            ช่วงประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาล คนกลุ่มแรกที่สร้างอารยธรรมเมโสโปเตเมียขึ้นคือชาวสุเมเรียน ผู้คิดประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก อารยธรรมที่ชาวสุเมเรียนขึ้นเป็นพื้นฐานสำคัญของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย สถาปัตยกรรม ตัวอักษร ศิลปกรรมอื่นๆ ตลอดจนทัศนคติต่อชีวิตและเทพเจ้าของชาวสุเมเรียน ได้ดำรงอยู่และมีอิทธิพลอยู่ในลุ่มแม่น้ำทั้งสองตลอดช่วงสมัยโบราณ

             ลักษณะสังคมของชาวสุเมเรียนเป็นอารยธรรมแบบเมือง ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายอาชีพ เช่น ชาวนา ช่างโลหะ ช่างทอง พระ ขุนนางและผู้ปกครองหรือกษัตริย์ ชาวสุเมเรียนมีการปกครองแบบรัฐศาสนา คือมีนักบวช ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อแล้ว ยังเป็นผู้บริหารจัดการเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรอีก เช่น การจักสรรน้ำและที่ดินเพื่อการเกษตร การแลกเปลี่ยนค้าขาย ธนาคาร เป็นต้น นักบวชและวัดในสมัยนี้จึงมีบทบาทสำคัญมาก

            มรดกชิ้นสำคัญซึ่งชาวสุเมเรียนได้สร้างไว้ คือ การประดิษฐ์อักษรใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยใช้ไม้หรือโลหะแหลมจารลงบนแผ่นดินเหนียวโดยพัฒนาจากตราประทับทรงกระบอกที่เป็นอักษรภาพง่ายๆ เวลาใช้ต้องนำกระบอกกลิ้งหมุนบนแผ่นดินเหนียว เป็นจุดกำเนิดของตัวอักษรครั้งแรกจนกลายเป็นอักษรรูปลิ่ม และผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นต้นตอของตัวอักษรกรีก และละติน

             จากความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองของชาวเมโสโปเตเมียได้ดึงดูดกลุ่มชนอัคคาเดียน ซึ่งเป็นกลุ่มของพวก Semite และบรรพบุรุษของชาวยิว Hebrew ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรอารเบีย (Arabia) ได้แทรกซึมเข้ามาในดินแดนของชาวสุเมเรียนและได้ยึดครองเมโสโปเตเมีย ประมาณปี 2,360 ก่อนคริสตกาล ชาวอัคคาเดียนได้ปกครองดินแดนเมโสโปเตเมียอยู่ประมาณ 200 ปี กษัตริย์ที่สำคัญของอัคคาเดียนคือ พระเจ้าซาร์กอน (Sargon) ได้รวบรวมนครรัฐของสุเมเรียนทั้งหมด การรวมครั้งนี้มีผลให้อารยธรรมของพวกสุเมเรียนจากตอนล่างของลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ได้ขยายขึ้นเหนืออย่างกว้างขวาง ผลจากการครอบครองสุเมเรียนของชาวอัคคาเดียนทำให้เทพเจ้าของพวกเขาที่ชื่อว่า “มาร์ดุก” (Marduk) เข้ามาเป็นเทพเจ้าสูงสุดแทนที่เทพ Enlil เดิม

            ชนชาติถัดมาที่เข้ายึดครองดินแดนเมโสโปเตเมียคือ ชาวบาบิโลน ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองยูรุก (Uruk) ใกล้แม่น้ำยูเฟรตีส ในสมัยนี้มีกษัตริย์ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ฮัมมูราบี” เป็นผู้สร้างความยิ่งใหญ่และความเจริญแก่ดินแดนเมโสโปเตเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบัญญัตกฎหมายบังคับใช้ในดินแดนของพระองค์ เรียกว่า “ประมวลกฎหมายแห่งฮัมมูราบี” (Code of Hammurabi) กฎหมายนี้มีลักษณะการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน กฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมคน แทนการใช้จารีตประเพณีและความเชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ และเทพเจ้า

             หลังจากกษัตริย์ฮัมมูราบีสิ้นอำนาจลง ก็มีชนเผ่าหลายชนเผ่า ได้แก่ ชาวฮิตไตท์ (Hitties) ชาวแคสไซส์ (Kassites) ชาวอีลาไมล์ (Elamites) และชาวอัสซีเรียน (Assyrians) แต่ชาวอัสซีเรียนถือว่าเป็นชนเผ่าที่มีบทบาทในการสร้างอารยธรรมอย่างโดดเด่น โดยในช่วงแรกได้ย้ายเมืองจากหลวงจากกรุบาบิโลนมาตั้งที่เมืองอัสซูร์ (Assur) ซึ้งตั้งอยู่บนริมฝั่งตอนกลางของแม่น้ำไทกริส และได้ครองอำนาจถึงขีดสุดระหว่าง 712-612 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอัสซีเรียนได้ขยายอำนาจการปกครองครอบคลุมไปถึงซีเรียน ปาเลสไตน์ และบางส่วนของอียิปต์

            จากอำนาจและบทบาททางอารยธรรมของชาวอัสซีเรียนทำให้เทพอสูร (Assur) ซึ่งเป็นเทพประจำเมืองอัสซูร์ ได้รับการยอมรับนับถืออย่ากว้างขวางและมีความสำคัญเท่ากับเทพมาร์ดุก (Marduk) ซึ่งเป็นเทพเจ้าของชาวอัคคาเดียนเดิม และได้ขยายอิทธิพลความเชื่อต่ออารยธรรมอื่นๆ เช่น เปอร์เซีย และอินเดีย แต่ด้วยความโหดร้ายของชาวอัสซูร์ทำให้ประชาชนต่อต้านและเสื่อมอำนาจลงในที่สุด ทำให้บทบาทของอสูรเทพของชาวอัสซีเรียนลดบทบาทลงและเสื่อมคลายไปจนกลายเป็นตัวร้ายในนิทาน แนวความคิดเรื่องอสูรเทพนี้มีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทย เพราะวรรณคดีไทยหลายเรื่องได้รับแนวคิดมาจากอารยธรรมอินเดียอีกทอดหนึ่ง

             ต่อมาเมื่อชาวอัสซีเรียนพ่ายแพ้สงครามต่อชาวเมเดสและชาวเมืองบาบิโลน อำนาจการปกครองจึงเปลี่ยนไปและเริ่มต้นยุคใหม่ เรียกยุคนี้ว่า “ยุคบาบิโลนใหม่” หรือ “นีโอบาบิโลน” (Neo Babylon) ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเนบุชัดเนซซาร์ที่สอง (Nebuchadnessar II) กษัตริย์พระองค์นี้ถือว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกาจ พระองค์ได้ยกทัพไปรบชนะชาวยิวยึดครองนครเยรูซาเล็ม ได้เชลยชาวยิวมาเป็นแรงงาน ในยุคของพระองค์ได้มีการก่อสร้างวิหารและพระราชวังหลายแห่ง และผลงานทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญและถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดแห่งของโลกสมัยโบราณคือ “สวนลอยแห่งเมืองบาบิโลน” (The hanging gardens of Babylon) ซึ่งเป็นสวนที่มีถนนกว้างปูลาดด้วยแผ่นหินและลาดด้วยยางมะตอย เพื่อให้เป็นเส้นทางของขบวนแห่เฉลิมฉลองเทพมาร์ดุก (Marduk) ซึ่งกลับมามีบทบาทสำคัญต่อชาวเมืองบาบิโลนอีกครั้ง

             จักรวรรดิบาบิโลนใหม่ รุ่งเรืองจนถึงประมาณ 539 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรบาบิโลนก้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus, the Great) ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย ดินแดนเมโสโปเตเมียซึ่งรุ่งเรืองผ่านการปกครองและอารยธรรมชนเผ่าต่างๆ มายาวนาน ก็สิ้นสุดลงในที่สุด
อารยธรรมเมโสโปเตเมียได้พัฒนาขึ้นถึงขีดสุดผ่านกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาครอบครองและผสมผสานความคิดความเชื่อของตนเองกับชนเผ่าต่างๆ ชีวิตของชาวเมโสโปเตเมียผูกพันกับพระและวัดอย่างมาก ชาวสุเมเรียนซึ่งเป็นชนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาครอบครองดินแดนเมโสโปเตเมีย มีลักษณะความเชื่อในเทพเจ้าและโลกหลังความตายเป็นหลัก และมีการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ ซึ่งเทพเจ้าแต่ละองค์ก็มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตให้คุณและโทษแก่ตนเอง เช่น อูโต เทพแห่งดวงอาทิตย์ อินันนา เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และความรัก อินลิล เทพแห่งสายฟ้า หรือดิน ฟ้า อากาศ เป็นต้น นอกจากการนับถือเทพเจ้าแล้วแล้ว ชาวสุเมเรียนยังเชื่อในไสยศาสตร์ นับถือโชคลางและปรากฏการณ์ธรรมชาติอีกด้วย ผู้มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารระหว่างชุมชนกับเทพเจ้าคือ พระ โดยผ่านการทำพิธีกรรม เช่นการจัดหารอาหาร และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างที่พำนักให้แก่เทพเจ้า และมีเทพเจ้าหลายองค์ที่กลายเป็นเทพเจ้าประจำรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับนับถือเทพเจ้าองค์อื่นๆ ด้วย

            พัฒนาการทางความคิดที่สำคัญของชาวสุเมเรียนอีกประการหนึ่ง คือ การรู้จักการคูณ การหาร ระบบหน่วยหกสิบ ได้แก่ 6, 60, 600, 3,600 ซึ่งปัจจุบันใช้กับการนับเวลาและการคำนวณวงกลม นอกจากนี้ยังได้คิดระบบชั่ง ตวง วัด ซึ่งเป็นรากฐานที่มาของการชั่งที่คิดน้ำหนักเป็นปอนด์ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนชาวคาลเดียนสามารถคำนวณวันเกิดสุริยปราคาและจันทรุปราคา รวมทั้งสามารถจัด แบ่งสัปดาห์ออกเป็น 7 วัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น